ประวัติสถานีวิทยุกระจายเสียงกรมประมงจังหวัดเชียงราย
สถานีวิทยุกระจายเสียงกรมประมงจังหวัดเชียงราย
สังกัด กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ที่ตั้ง 271 หมู่ 6 บ้านปงหลวง ตำบลเวียงชัย อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย 57210
เริ่มดำเนินการส่งกระจายเสียงเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2540
(ความถี่ 103.0 เมกกะเฮิรตซ์ กำลังส่ง 1 กิโลวัตต์)
พื้นที่ ใช้พื้นที่ของศูนย์วิจัยและพัฒนาสัตว์น้ำจืดเขต 2 เชียงราย จำนวน 1 ไร่
ความเป็นมาของการก่อตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงกรมประมง
1. กรมประมงได้รับอนุมัติความถี่วิทยุกระจายเสียง สถานีวิทยุกระจายเสียง ระบบ F.M.
จำนวน 3 สถานี เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532
(1)สถานีวิทยุกระจายเสียงกรมประมงจังหวัดระยอง ให้ใช้ความถี่ 100.75 เมกกะเฮิรตซ์
(2)สถานีวิทยุกระจายเสียงกรมประมงจังหวัดร้อยเอ็ด ให้ใช้ความถี่ 101.60 เมกกะเฮิรตซ์
(3) สถานีวิทยุกระจายเสียงกรมประมงจังหวัดเชียงราย ให้ใช้ความถี่ 103 เมกกะเฮิรตซ์
2. ในระยะแรกปี พ.ศ.2532-2535 กำลังดำเนินการขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศ คือประเทศออสเตรเลีย และประเทศญี่ปุ่น ประเทศไทยเกิดมีการยึดอำนาจรัฐบาล โดยคณะรัฐบาลโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) รัฐบาลต่างประเทศจึงงดให้ความช่วยเหลือแก่รัฐบาลไทย
3. กรมประมง จึงของบประมาณประจำปี เพื่อจัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงกรมประมง ตามปกติเรื่อยมาเป็นลำดับ แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงบประมาณ
4. ปี พ.ศ.2538 กรมประมงประกาศเชิญชวน บริษัท ห้างร้าน และเอกชนเข้าร่วมจัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงกรมประมง
5. มีบริษัทที่ให้ความสนใจเสนอเข้าร่วมจัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงกรมประมง จำนวน 4 บริษัท คณะกรรมการได้พิจารณาตัดสินให้ บริษัทยูไนเต็ดคอมมูนิเกชั่น อินดัสตรี (เนทเวอร์ค) มหาชน จำกัด เป็นผู้ได้รับการจัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงกรมประมง
6. ปี 2539 ได้รับงบประมาณจัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงกรมประมงจังหวัดระยอง เพียงแห่งเดียว เป็นเงิน 5,125,000 บาท แต่งบประมาณที่ได้รับไม่เพียงพอที่จะจัดสร้าง (ก่อสร้างจริง – ต้องใช้งบประมาณ เป็นเงิน 10 ล้านบาท)
7. เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2539 กรมประมงได้ขอ จัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงกรมประมงเพิ่มเติม จำนวน 10 สถานี ระบบ FM. 7 สถานี ได้แก่ หนองคาย อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ เชียงใหม่ ชัยนาท สุราษฎร์ธานีและตรัง ระบบ A.M. 3 สถานี ได้แก่ ภูเก็ต สงขลาและระนอง
8. วันที่ 16 สิงหาคม 2539 กกช. ประชุมมีมติให้ยกเลิกการอนุมัติจัดตั้ง สถานีวิทยุกระจายเสียงของกรมประมง จำนวน 3 สถานี คือที่ ระยอง เชียงราย และร้อยเอ็ด และให้กรมไปรษณีย์โทรเลขเพิกถอนและเรียกคืนความถี่ทั้ง 3 สถานี เนื่องจากกรมประมงไม่สามารถดำเนินการจัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา 3 ปี ตามเงื่อนไขที่กำหนด
9 . วันที่ 18 กันยายน 2539 กรมไปรษณีย์โทรเลข แจ้งยกเลิกการอนุญาตให้ตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงและการใช้ความถี่วิทยุ 3 สถานี
10. วันที่ 19 กันยายน 2539 กรมประมงทำเรื่อง เสนอ กกช. ขอดำเนินการจัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงกรมประมงทั้ง 3 แห่งต่อไป เนื่องจากกรมประมงได้รับงบประมาณและเงินสนับสนุนในการจัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงกรมประมง รวม 3 แห่ง ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการก่อสร้างสถานีวิทยุฯ พร้อมจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ในการกระจายเสียง
11. วันที่ 1 ตุลาคม 2539 กรมประมง ทำเรื่องขอสงวนความถี่วิทยุของสถานีวิทยุ กระจายเสียงกรมประมง 3 สถานี
12. วันที่ 11 พฤศจิกายน 2539 กกช. ได้มีมติอนุมัติในหลักการดังนี้
1. ให้กรมประมงขยายเวลาการจัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงฯ ของกรมประมง 3 สถานีที่ จ. ระยอง เชียงรายและร้อยเอ็ด ออกไปอีก 1 ปี ( ตั้งแต่ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2539 ถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2540)
2. ให้จัดตั้ง สถานีวิทยุกระจายเสียงกรมประมง เอ เอ็ม. ที่จังหวัดระนอง ได้ 1 แห่ง โดยมีเงื่อนไขว่า กรมประมงจะต้องม่ทำการโฆษณาสินค้าและบริการธุรกิจแต่อย่างใด ส่วนสถานีที่เหลือ(FM. 7 แห่ง และ AM. 2 แห่ง) ให้ฝ่ายเลขานุการ กกช. รวมเรื่องไว้พิจารณาในคราวเดียวกับหน่วยงานอื่นที่ขอจัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียง เมื่อแผนการจัดการบริหารความถี่วิทยุกระจายเสียงแห่งชาติเสร็จเรียบร้อย.
สถานีวิทยุกระจายเสียงกรมประมง จ.เชียงราย FM ความถี่ 103.0 MHz.
การจัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียง กรมประมง เริ่มเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2531 กรมประมงได้ทำเรื่องขออนุมัติจัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียง ระบบ เอฟ.เอ็ม. จำนวน 3 สถานีเสนอกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อนำเสนอต่อ คณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์พิจารณา
โดยมีวัตถุประสงค์
1.เพื่อกระจายข่าวสารด้านเศรษฐกิจ สังคม การเกษตร ข่าวพยากรณ์อากาศและข่าวสาร รายการอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ในการทำการประมง
2.ส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การแปรรูปสัตว์น้ำ โดยอาศัยสื่อวิทยุกระจายเสียงให้ความรู้ และทำความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วให้ชาวประมงได้ทราบ
3.ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตระหนักถึงความจำเป็น ในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำและรักษาสิ่งแวดล้อมทางการประมง
4.ให้ข่าวเตือนภัยล่วงหน้า กรณีมีเหตุการณ์ฉุกเฉินอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ชาวประมงได้รับความเสียหาย
5.เพื่อป้องกันการรุกล้ำน่านน้ำประเทศเพื่อนบ้าน โดยให้ข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับน่านน้ำอาณาเขต กฎหมาย และระเบียบการทำการประมงระหว่างประเทศ
6.แจ้งข่าวสาร และข้อมูลที่มีประโยชน์เช่นการจับสัตว์น้ำ ราคาสัตว์น้ำ การเปลี่ยนแปลงความเคลื่อนไหวทางการประมง รวมทั้งการป้องกัน ระวังรักษาสัตว์น้ำ เมื่อเกิดอุทกภัย และโรคระบาด เป็นต้น
7.เป็นสื่อในการประชาสัมพันธ์เผยแพร่กิจการของกรมประมง รวมทั้งสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนในพื้นที่กับกรมประมงและเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532 คณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ มีมติให้กรมประมงจัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงในระบบ เอฟ.เอ็ม. จำนวน 3 แห่ง ที่จังหวัดระยอง จังหวัดเชียงราย และจังหวัดร้อยเอ็ด
สถานีวิทยุกระจายเสียงกรมประมง
มีหน้าที่ ในการดำเนินการเผยแพร่กระจายเสียง ถ่ายทอดและโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ตามนโยบายของรัฐบาล และกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระจายเสียงให้ข่าวสาร ด้านเศรษฐกิจ สังคม การเกษตร การเตือนภัย ข่าวพยากรณ์อากาศ สถานการณ์ประมง และข่าวสารความรู้ทั่วไป จัดทำบทความ ความรู้ สารอาชีพการประมง การอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อม ให้ความบันเทิง อีกทั้งยังเป็นสื่อกลางสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนในพื้นที่กับกรมประมงและรัฐบาล มีประสิทธิภาพควบคุมดูแลบริหารงานและการปฏิบัติงานของสถานีวิทยุกระจายเสียงให้เป็นไปตามระเบียบ และข้อบังคับ